
ในพงศาวดารเมืองสงขลา ฉบับพระยาวิเชียรคีรี (ชม) เรียบเรียงเมื่อยังเป็นพระยาสุนทรานุรักษ์ ได้บันทึกไว้ว่า ในปีศักราช 1150 เมื่อพระอนันตสมบัติ (บุญเฮี้ยว) ซึ่งในขณะนั้นได้รับโปรดเกล้าให้เป็น ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา และเป็นผู้ว่าราชการเมืองจะนะ ได้ถึงแก่กรรม พระยาสุวรรณคีรีสมบัติ (บุญหุ้ย) พระยาสงขลา ได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานถวายนาม เถี้ยนจ๋ง เป็นมหาดเล็ก ฉลองพระเดชพระคุณอยู่ในกรุงเทพฯ
ครั้น ณ ปีศักราช 1157 พม่าข้าศึกยกกองทัพเรือมาตีเมืองถลางแตก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายเถี้ยนจ๋งมหาดเล็กเป็นหลวงนายฤทธิ์ ออกมาในกองทัพเจ้าพระยาพลเทพ (บุญนาค) ยกไปช่วยตีเมืองถลาง หลังจากพวกพม่าข้าศึกแตกหนีกลับไป หลวงนายฤทธิ์ได้รับคำสั่งให้ยกกองทัพไปตีเมืองยิริง จนการศึกสงบจึงได้ยกกองทัพกลับเข้ากรุงเทพฯ
กาลต่อมา ณ ปีศักราช 1171 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสววรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติ พม่ายกกองทัพมาตีเมืองถลางได้อีก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้หลวงนายฤทธิ์ ยกกองทัพไปสมทบกับเจ้าพระยายมราช และเจ้าพระยาสงขลา เพื่อขับไล่พม่าข้าศึกจนสำเร็จ เมืองสงขลาปราศจากข้าศึกอยู่ 3 ปี เจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย) ก็ถึงแก่อสัญกรรม เจ้าพระยาอินทคีรีไม่มีบุตร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงนายฤทธิ์ (เถี้ยนจ๋ง) บุตรพระอนันตสมบัติ ซึ่งเป็นหลานเจ้าพระยาอินทคีรี เป็นพระยาวิเศษภักดีศรีสุรสงคราม พระยาสงขลา
พระยาวิเศษภักดี (เถี้ยนจ๋ง) มีบุตรธิดา 5 คน
- พระนเรนทรราชา (ช้าง หรือ เหี้ยง)
- วัน (ญ)
- หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ (แสง)
- ท่านน่วม (ญ)
- เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) เจ้าเมืองสงขลาคนที่ 6